top of page

ถั่วดาวอินคา - Sacha Inchi

ชื่อสมุนไพร ดาวอินคา ชื่ออื่นๆ ถั่วดาวอินคา ชื่อวิทยาศาสตร์ Plukenetia volubilis. ชื่อสามัญ sacha inchi, sacha mani , Inca peanut. วงศ์ Euphorbiaceae

ถิ่นกำเนิดดาวอินคา

ดาวอินคา เป็นพืชวงศ์ Euphorbiaceae เช่นเดียวกับ ยางพารา สบู่ดำ หรือมันสำปะหลัง นับเป็นพืชเฉพาะถิ่นชนิดหนึ่ง มีถิ่นกําเนิดจากบริเวณลุ่มแม่น้ำอเมซอน ในประเทศเปรู ทวีปอเมริกาใต้ซึ่งมนุษย์รู้จักนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่สมัยอินคา หรือในช่วงปี ค.ศ. 1438-1533 และสืบทอดมากันมาสู่คนพื้นเมืองมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีการนำดาวอินคามาใช้ประโยชน์หลากหลาย ทั้งนี้ จากแหล่งกำเนิด และประวัติที่ชาวอินคานำมาใช้ประโยชน์ ประเทศไทยจึงเรียกพืชชนิดนี้ว่า ถั่วดาวอินคาในปัจจุบันก็มีการเพาะปลูกดาวอินคาในแถบทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีการนำดาวอินคามาแปรรูป เช่น น้ำมันดาวอินคาที่ได้จากการสกัด ถั่วดาวอินคาอบเกลือ หรือถั่วดาวอินคาคั่ว

สำหรับในประเทศไทยได้มีบริษัทเอกชนนำดาวอินคาเข้ามาส่งเสริมการปลูกครั้งแรก เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาโดยเริ่มที่จังหวัดหนองคายเนื่องจากเห็นว่ามีที่ตั้งภูมิศาสตร์เส้นทางคมนาคมที่เหมาะสม และสามารถเชื่อมโยงไปสู่กลุ่มประเทศอินโดจีนได้จนมีการปลูกอย่างแพร่หลายในหลายพื้นที่ในปัจจุบัน

ประโยชน์และสรรพคุณดาวอินคา

  1. มีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลในเลือด

  2. สามารถต้านอนุมูลอิสระและป้องกันการออกซิเดชันของไขมัน

  3. ช่วยลดไขมันในเลือดและป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

  4. ช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมมาบำรุงกระดูกได้ดีขึ้น

  5. ช่วยรักษาความแข็งแรงของเยื่อหุ้มเซลล์

  6. ลดการอักเสบของหลอดเลือด

  7. ช่วยลดความเสี่ยงโรคไขข้อ

  8. ช่วยบำรุงสุขภาพผิวและผม

  9. ช่วยป้องกันสารต้านอนุมูลอิสระอันเป็นต้นเหตุของการอักเสบ

  10. ช่วยลดริ้วรอย

  11. ช่วยบำรุงผิวให้ชุ่มชื้น

  12. ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

  13. ช่วยป้องกันไวรัส โทโคฟีรอล (tocopherols) ไฟโตสเตอรอล (phytosterol)

  14. ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคมะเร็ง

  15. ช่วยป้องกันการแข็งตัวของเลือด

  16. ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง

  17. ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

  18. ป้องกันโรคเบาหวาน

  19. ช่วยกระตุ้นความจำ

  20. ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของสมอง

  21. ป้องกันโรคสมองเสื่อม

  22. ช่วยควบคุมความดันในลูกตา และเส้นเลือด

เมล็ดดาวอินคาสามารถใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว เช่น ถั่วคั่วเกลือ ถั่วทอด หรือ นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร อาทิ ซอส ซีอิ้ว เต้าเจี้ยว รวมถึงแปรรูปเป็นแป้ง ดาวอินคาสำหรับใช้ประกอบอาหารและทำขนมหวานในปัจจุบันนิยมนำเมล็ดดาวอินคานำมาสกัดน้ำมัน ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ในหลายด้าน ได้แก่ใช้เป็นน้ำมันรับประทานเพื่อเป็นอาหารเสริมให้แก่ร่างกาย โดยมักผลิตในรูปบรรจุขวดหรือบรรจุแคปซูลพร้อมรับประทาน ใช้เป็นน้ำมันทอดหรือประกอบอาหารใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง เช่น โฟมล้างหน้า สบู่ น้ำหอม และครีมบำรุงผิว น้ำมันที่สกัดได้ใช้สำหรับทานวดแก้ปวดเมื่อย รวมถึงใช้ชโลมผมให้ดกดำ และจัดทรงง่าย




รูปแบบและขนาดวิธีใช้ดาวอินคา

ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดรูปแบบ / ขนาดการใช้หรือขนาดรับประทานดาวอินคาอย่างแน่ชัด โดยบางงานวิจัยระบุว่า เมล็ดดาวอินคารับประทานไม่ได้ เนื่องจากมีสารกลุ่มที่ยับยั้งกานทำงานของเอ็นไซม์ทริปซิน (trypsin inhibitor) แต่สามารถนำมาหีบเอาน้ำมันมาใช้รับประทานเพื่อให้ได้ประโยชน์จากน้ำมันดาวอินคา และบางงานวิจัยระบุว่าเมล็ดดาวอินคาสามารถรับประทานได้เมื่อทำให้สุกแล้ว แต่อย่างไรก็ตามหากต้องการรับประทานเพื่อป้องกันและบำบัดรักษาโรคควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก็จะเป็นการดีที่สุด

ลักษณะทั่วไปดาวอินคา

ดาวอินคาจัดเป็นไม้เลื้อยเพราะมีลำต้นเป็นไม้เลื้อยที่มีอายุนาน 10-50 ปี ลำต้นแตกกิ่งเป็นเถาเลื้อยได้ยาวมากว่า 2 เมตร เถาอ่อนมีสีเขียว เถาแก่หรือโคนเถามีสีน้ำตาล แก่นเถาแข็ง และเหนียว

ใบของถั่วดาวอินคาเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับเยื้องกันตามความยาวของเถา ใบมีรูปหัวใจ โคนใบกว้าง และเว้าตรงกลางเป็นฐานหัวใจ ส่วนปลายใบแหลม แผ่นใบมีสีเขียวสด และมีร่องตื้นๆตามเส้นแขนงใบ ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย มีก้านใบยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ส่วนแผ่นใบกว้างประมาณ 8-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12-18 เซนติเมตร

ดอกเป็นช่อตามซอกใบบนเถา แต่ละช่อมีดอกขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกมีลักษณะทรงกลม สีเขียวอมเหลือง เป็นดอกชนิดแยกเพส แต่รวมอยู่ในช่อดอก และต้นเดียวกัน โดยดอกเพสเมียจะอยู่บริเวณโคนช่อดอก 2-4 ดอก ส่วนดอกเพศผู้มีจำนวนมากถัดจากดอกเพศเมียมาจนถึงปลายช่อดอก ทั้งนี้ ถั่วดาวอินคาจะติดดอกครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 5 เดือน หลังเมล็ดงอก และผลจะแก่ที่พร้อมเก็บได้ประมาณอีก 3-4 เดือน หลังออกดอก

ผลเรียกเป็นฝัก มีลักษณะเป็นแคปซูลที่แบ่งออกเป็นพูๆหรือแฉก 4-7 พู ขนาดฝักกว้าง 3-5 เซนติเมตร เปลือกผลอ่อนมีสีเขียวสด และมีประสีขาวกระจายทั่ว แล้วค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อสุก และแก่จนแห้งเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล พร้อมกับเปลือกปริแตกจนมองเห็นเมล็ดด้านใน

เมล็ดดาวอินคาใน 1 ผลหรือฝัก จะมีจำนวนเมล็ดตามพูหรือแฉก อาทิ ฝักมี 5 พู ก็จะมี 5 เมล็ด หากมี 7 พู ก็จะมี 7 เมล็ด โดยเมล็ดจะแทรกอยู่ในแต่ละพูในแนวตั้ง เมล็ดมีรูปทรงกลม และแบน ขอบเมล็ดบางแหลม ตรงกลางเมล็ดนูนเด่น ขนาดเมล็ดกว้าง 1.5-2.0 เซนติเมตร ยาว 1.8-2.2 เซนติเมตร น้ำหนักเมล็ดเฉลี่ย 1.5 กรัม/เมล็ด เปลือกเมล็ดเป็นแผ่นบาง มีสีน้ำตาลอมดำ ถัดมาจากเปลือกเป็นเนื้อเมล็ดที่มีสีขาว เนื้อเมล็ดเมื่อคั่วสุกจะกรอบ และมีรสมันอร่อย มีน้ำมันปริมาณมาก

การขยายพันธุ์ดาวอินคา

ดาวอินคาสามารเติบโตได้ดีในสภาพอากาศอุ่น ที่อุณหภูมิ 10-36 องศาเซลเซียสที่มีความสูงตั้งแต่ 100-2000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งสามารถปลุกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย

สำหรับการขยายพันธุ์สามารถ ขยายพันธุ์โดยเมล็ด โดยการนำเมล็ดที่แก่แล้วมาเพาะในถุงดำ เมื่อต้นสูงประมาณ 30 ซม. จึงย้ายปลูกหรือหยอดเมล็ดในหลุมปลูกเลยก็ได้ ระยะปลูก 2 x 3 ถึง 2 x 4 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ 200 – 300 ต้น เป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำขังแฉะ ในพื้นที่ต่ำควรยกร่อง ทำค้างสำหรับให้ต้นเลื้อยพัน โดยใช้วัสดุในพื้นที่ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมักใช้ท่อพีวีซีเป็นเสาหลักแล้วใช้สายโทรศัพท์เก่าขึงระหว่างเสาเป็นค้างสำหรับให้ยอดเลื้อยพัน ส่วนปุ๋ยที่ใช้ควรเป็นปุ๋ยอินทรีย์ โดยทั่วไปดาวอินคาสามารถให้ผลผลิต 600 – 800 กิโลกรัมต่อไร่และให้ผลผลิตยาวนาน 15 – 50 ปี เลยทีเดียว

องค์ประกอบทางเคมี

เมล็ดดาวอินคาเป็นแหล่งของโปรตีน (ประมาณ 27%)

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของดาวอินคา

ที่มา : Wikipedin

และน้ำมัน (35-60%) โดยมีกรดไขมันชนิด omega-3 เช่น linolenic acid ประมาณ 45-53% (12.8–16.0 g/100 g seed) , omega-6 เช่น linoleic acid ประมาณ 34-39% (12.4–14.1 g/100 g seed) และ omega-9 ประมาณ 6-10% ของไขมันทั้งหมด อัตราส่วนของ omega-6 /omega-3 อยู่ในช่วง 0.83–1.09 นอกจากนี้มี phytosterols ได้แก่ beta-sitosterol และ stigmasterol สารที่มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันเช่น วิตามินอี ในรูป tocopherols สารกลุ่มฟีโนลิก และแคโรทีนอยด์ รวมถึงกรดอะมิโยหลายชนิดเช่น ซิสเตอีน (cysteine) ไทโรซีน (tyrosine) ทรีโอนีน (threonine) และทริปโตเฟน (tryptophan)

ส่วนคุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดดาวอินคา (คั่วเกลือ ปริมาณ 100 กรัม) พลังงาน 607 กิโลแคลอรี โปรตีน 32.14 กรัม ไขมันทั้งหมด 46.43 กรัม คาร์โบไฮเดรต 17.86 กรัม น้ำตาล 3.57 กรัม แคลเซียม 143 มิลลิกรัมธาตุเหล็ก 4.59 มิลลิกรัมโซเดียม 643 มิลลิกรัม

การศึกษาทางเภสัชวิทยา

ที่ผ่านมามีงานวิจัยทางคลินิกที่ศึกษาถึงผลของน้ำมันดาวอินคา ว่ามีคุณสมบัติที่สามารถน้ามาใช้แทนโอเมก้า-3 ที่มีอยู่ในน้้ามันปลาได้หรือไม่ โดยมีงานวิจัยที่ศึกษาผลของน้ำมันจากดาวอินคาต่อการลดระดับไขมันในเลือด ทดลองในผู้ป่วยที่มีปัญหาคลอเรสเตอรอลในเลือดสูง โดยให้รับประทานน้ำมันที่สกัดจากดาวอินคา 5 หรือ10 มิลลิลิตรเป็นระยะเวลา 4เดือน พบว่าทั้ง 2 กลุ่มมีผลคลอ-เรสเตอรอลทั้งหมดและไขมันที่ไม่จ้าเป็นในเลือดลดลง และเพิ่มระดับไขมันเอชดีแอล แสดงให้เห็นถึงว่ากรดไขมันโอเมก้า-3 ที่อยู่ในดาวอินคาออกฤทธิ์คล้ายคลึงกับกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่สกัดออกมาได้จากน้ำมันปลา

การศึกษาทางพิษวิทยา

สำหรับความปลอดภัยในการรับประทานน้ำมันดาวอินคา ได้มีงานวิจัย ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองอายุระหว่าง 25-55 ปีจ้านวน 30 คน เป็นเพศชาย 13 คน และเพศหญิง 17 คนรับประทานน้ำมันดาวอินคา วันละ 10-15 มิลลิลิตร โดยเปรียบเทียบกับน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวันปริมาณเท่ากัน ตอนเช้า เป็นระยะเวลา 4 เดือน พบว่าผลข้างเคียงที่พบเป็นหลักในกลุ่มที่รับประทานน้ำมันดาวอินคา ได้แก่อาการคลื่นไส้เรอ ส่วนอาการอื่นๆ ที่พบบ้าง ได้แก่ ร้อนวูบวาบ ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องผูก ส่วนผลข้างเคียงที่พบเป็นหลักในกลุ่มที่รับประทานน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน ได้แก่คลื่นไส้ท้องอืด ส่วนอาการอื่น ๆ ที่พบบ้าง ได้แก่ ปวดท้อง ในส่วนของค่า การทำงานของตับ ได้แก่ AST (Aspartate transaminase), ALT (Alanine Aminotransferase), GGT (Gammaglutamyl transferase), Alkaline Phosphatase, Total Bilirubin, Albumin, Total protein ค่าการท้างานของไตได้แก่ Creatinine ค่าการอักเสบ ได้แก่ CRP และค่ากรดยูริค(Uric acid) ทั้งหมดนี้ไม่พบว่ามีความผิดปกติ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดขนาดการใช้ดาวอินคาอย่างแน่ชัด ดังนั้นในการใช้ป้องกันหรือบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

  2. ไม่ควรใช้ติดต่อกันในปริมาณมากลเป็นเวลานานเพราะอาจส่งผลต่อระบบต่างๆในร่างกาย

  3. ในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปของดาวอินคา ควรเลือดผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา

เอกสารอ้างอิง

  1. มารู้จักถั่วดาวอินคา กันเถอะ??.. จดหมายข่าว วิทย์-แพทย์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา.ปีที่5.ฉบับที่ 2.เมษายน-มิถุนายน 2557

  2. Gonzales GF , Gonzales C. A randomized, double-blind placebo-controlled study on acceptability, safety and efficacy of oral administration of sacha inchi oil (Plukenetia volubilis L.) in adult human subjects. Food Chem Toxicol. 2014;65:168-76.

  3. อุดมวิทย์ ไวทยากร,กัญญรัตน์ จำปาทอง,เถลิงศักดิ์ วีระวุฒิ.ดาวอินคา พืชมหัศจรรย์ สุดยอดโภชนาการ.จดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่การวิจัยและพัฒนาการเกษตร.กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

  4. Souza, A.H.P., Gohara, A.K., Rodrigues, A.C., Souza, N.E., Visentainer, J.V. & Matsushita, M. (2013). Sacha inchi as potential source of essential fatty acids and tocopherols: multivariate study of nut and shell. Acta Scientiarum, 35, 757-763.

  5. รัชนก ภูวพัฒน์.การศึกษาการเปรียบเทียบความสามารในการผลิตสารทุติยภูมิจากใบอ่อนใบเพสลาดและใบแก่ของถั่วดาวอินคาเพ่อรองรับการผลินใบชาเพื่อชุมน ของจังหวัดนราธิวาส.วารสารมหาวิทยาลัยพระธิวาสราชนครินทร์.ปีที่ 8.ฉบับที่2.พฤษภาคม-สิงหาคม 2559

  6. เปลือกถั่วดาวอินคา.กระดานถาม-ตอบ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6690

  7. ธนกฤต ศิลปะธรากุล.ประสิทธิผล ของอาหารเสริมจากน้ำมันถั่วดาวอินคาในรูปรับประทาน ต่อการทำงานของสมองด้านสติปัญญา.สรุปการประชุมวิชาการและเสนอผลงานวิจัยระดับชาติครั้งที่ 3 ก้าวสู่ทศวรรษที่2:บูรณาการวิจัยใช้องค์ความรู้สู่ความยั่งยืน 17 มิถุนายน 2559 ณ.วิทยาลัยนครราชสีมา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา.หน้า 14-21

  8. Maurer, N.E., Sakoda, B.H., Chagman, G.P. & Saona, L.E.R. (2012). Characterization and authentication of a nevel vegetable source of omega-3 fatty acid, sacha inchi (Plukenetia volubilis L.) oil. Food Chemistry, 134, 1173-1180.

  9. ถั่วดาวอินคา สรรพคุณ และการปลูกถั่วดาวอินคา.พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com

  10. Chirnos, R., Zuloeta, G., Pedreschi, R., Mignolet, E., Larondelle, Y. & Campos, D. (2013). Sacha inchi (Plukenetia volubilis): A seed source of polyunsaturated fatty acids, tocopherols, phytosterols, phenolic compounds and antioxidant capacity. Food Chemistry, 141, 1732-1739.

  11. Hanssen, H.P. & Hubsch, M.S. (2011). Sacha Inchi (Plukenetia volubilis L.) nut oil and its therapeutic and nutritional uses. Nuts & Seeds in health and disease prevention, 991-994.

  12. Van Welzen,P.C. and K. Chayamarit. 2007. Euphorbiaceae. pp. 509 – 512. In Santisuk, T and K. Larsen (eds.) Flora of Thailand. Volume Eight. Part Two. The Forest Herbarium. National Park, Wildlife and Plant Conservation Department, Bangkok.







127 views0 comments

Recent Posts

See All
bottom of page